จังหวัดนครพนม
จังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นับเป็นเมืองชายแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงามของทิวทัศน์ และมีความหลากหลายของวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ รวมทั้งประวัติศาสตร์ที่ยาวนานไม่แพ้จังหวัดอื่น ๆ มีพระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง พื้นที่ชายแดนด้านเหนือและตะวันออกของนครพนมติดกับแม่น้ำโขงโดยตลอด ตั้งแต่อำเภอบ้านแพงลงมาจนถึงอำเภอธาตุพนม สามารถเดินทางข้ามฝั่งโขงไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้หลายจุด
จังหวัดนครพนม
คำขวัญประจำจังหวัด: พระธาตุพนมค่าล้ำ วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง
ที่ตั้ง จังหวัดนครพนมมีพื้นที่ประมาณ ๕,๕๑๒.๖๖๘ ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๗๔๐ กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๑ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองนครพนม ธาตุพนม นาแก ท่าอุเทน เรณูนคร บ้านแพง ปลาปาก ศรีสงคราม นาหว้า โพนสวรรค์ นาทม และกิ่งอำเภอวังยาง
สถานที่ท่องเที่ยวฮิตในนครพนม
พระธาตุพนม
ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๐–๑๔๐๐ ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างคือ พระมหากัสสปะ พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ และท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น“วรมหาวิหาร” พระธาตุพนมไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนมเท่านั้น พระธาตุพนมยังเป็นที่เคารพของชาวไทยภาคอื่น ๆ และชาวลาวอีกด้วย ว่ากันว่าถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ ๗ ครั้ง จะถือว่าเป็น“ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและจะมีความเจริญรุ่งเรือง หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม ๑ ครั้ง ก็ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๘ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนมและประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๒ นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำที่มีนน้ำหนักถึง ๑๑๐ กิโลกัม ปัจจุบันองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ ๑๒.๓๓ เมตร สูง ๕๓.๖๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม งานนมัสการองค์พระธาตุเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี การเดินทาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๕๓ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ หรือจากสถานีขนส่งในอำเภอเมือง มีรถปรับอากาศและรถธรรมดาไปยังพระธาตุฯ
พระธาตุเรณู
ประดิษฐานอยู่วัดธาตุเรณู ณ บ้านเรณูนคร องค์พระธาตุจำลองมาจากองค์พระธาตุพนมองค์เดิม แต่มีขนาดเล็กกว่า สร้างเมื่อปี พ. ศ. ๒๔๖๑ โดยพระอุปัชฌาย์อินภูมิโย สูง ๓๕ เมตร กว้าง ๘.๓๗ เมตร มีซุ้มประตู ๔ ด้าน ภายในเป็นโพรงบรรจุพระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน ของมีค่า และเครื่องกกุธภัณฑ์ของพระยาและเจ้าเมือง นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังประดิษฐานพระองค์แสน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำศิลปะแบบลาว ปางสมาธิ พระคู่บ้านของอำเภอเรณูนคร มีพุทธลักษณะสวยงามมาก การเดินทาง จากสถานีขนส่ง ยังไม่มีรถจากอำเภอเมืองฯ ไปอำเภอเรณูนครโดยตรง ต้องขึ้นรถสายที่ไปวัดพระธาตุพนม และลงตรงแยกบ้านหลักศิลา จากนั้นเหมารถสกายแล็ปหรือมอเตอร์ไซต์รับจ้างเข้าไปที่วัด ระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร
วัดพระธาตุมหาชัย
ประดิษฐานอยู่บ้านมหาชัย ตำบลมหาชัย องค์พระธาตุสูง ๓๗ เมตร เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง เพราะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันต์สารีริกธาตุ ภายในพระอุโบสถนอกจากพระประธานคือ พระพุทธไชยสิทธิ์แล้วยังมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติสลักจากไม้ต้นสะเดาหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภาพเขียนบนฝาผนังอุโบสถแสดงพุทธประวัติ มีลวดลายศิลปกรรมที่งดงามมากในภาคอีสาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่พระธาตุมหาชัย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา และที่วัดนี้ยังเป็นที่จำพรรษาของพระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) พระเกจิอาจารย์สายวิปัสนาที่สำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวนครพนมและชาวอีสานทั่วไป การเดินทาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๓๙ กิโลเมตร ตามเส้นทางนครพนม-สกลนคร ทางหลวงหมายเลข ๒๒ (กิโลเมตรที่ ๒๐๑-๒๐๒ เลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีก ๒ กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติภูลังกา
อุทยานแห่งชาติภูลังกาครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม และอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย มีเนื้อที่ประมาณ ๓๑,๒๕๐ ไร่ หรือประมาณ ๕๐ ตารางกิโลเมตร ลักษณะเป็นภูเขาทับซ้อนกัน ๓ ลูก สลับด้วยเทือกเขาขนาดเล็กสลับซับซ้อนทอดยาวตามแนวลำน้ำโขง สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณและป่าแดงที่สมบูรณ์มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นต้นกำเนิดของน้ำตก และลำธารใหญ่น้อยหลายสาย การเดินทาง จากตัวเมืองนครพนมใช้เส้นทางนครพนม-บ้านแพง ทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ ระยะทางประมาณ ๑๐๕ กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ ๒๒๐ ห่างจากตัวอำเภอบ้านแพงประมาณ ๖ กิโลเมตร
สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
น้ำตกตาดขามเป็นน้ำตกที่ไหลเป็นชั้น ๆ จำนวน ๔ ชั้น เฉพาะชั้นสุดท้ายจะมีแอ่งน้ำขังตลอดปี สภาพโดยรอบร่มรื่น และมีลานหินเล็ก ๆ เหมาะสำหรับพักผ่อน น้ำตกตาดโพธิ์กำเนิดจากเทือกเขาภูลังกา น้ำตกมีลักษณะสวยงามไม่น้อยกว่าน้ำตกตาดขาม เป็นน้ำตกที่ไหลเป็นชั้นจำนวน ๔ ชั้น แต่ละชั้นสูงไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ชั้นที่ ๒ สูงถึง ๓๐ เมตร การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ จากนครพนมแล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ ๒๑๔ เข้าไปประมาณ ๓ กิโลเมตร ห่างจากน้ำตกตาดขาม ประมาณ ๔ กิโลเมตร
วัดมหาธาตุ
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมถนนสุนทรวิจิตร เลียบเขื่อนหน้าเมืองนครพนม วัดมหาธาตุสร้างในปี พ. ศ. ๑๑๕๐ โดยพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) แม่ทัพใหญ่ที่มาจากเวียงจันทน์ มีพระธาตุนครลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ ๕.๘๕ เมตร สูงประมาณ ๒๔ เมตร เป็นปูชนียสถานสำคัญ และยังมีโบสถ์เก่าแก่สวยงามมาก
วัดโอกาสศรีบัวบาน
ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงเขตเทศบาลเมืองนครพนม เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ บริเวณกลางวัดจะมีหอประดิษฐานพระติ้วกับพระเทียมอยู่คู่กัน พระติ้วจะประทับอยู่ด้านขวาของพระเทียม พระติ้วเป็นพระพุทธรูปปางเพชรมารวิชัย ทำด้วยไม้ติ้วบุทองคำ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๐ เซนติเมตร สูง ๖๐ เซนติเมตร สร้างโดยเจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร เมื่อพ.ศ. ๑๓๒๘ ส่วนพระเทียมมีลักษณะและขนาดเดียวกับพระติ้ว สร้างในสมัยพระเจ้าขัติยวงศา และมีการสมโภชให้พระติ้ว พระเทียม เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน
วัดศรีเทพประดิษฐาราม
ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ถนนศรีเทพ เยื้องโรงเรียนชุมชนเทศบาล ๓ สร้างขึ้นเมื่อ พ. ศ. ๒๔๐๒ ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังรูปพุทธประวัติที่สวยงาม และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระแสง ตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นพร้อมกับพระสุกและหลวงพ่อพระใส (วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย) ข้างๆโบสถ์มีเจดีย์บรรจุอัฐิของหลวงปู่จันทร์ (พระเทพสิทธาจารย์) พระเกจิอาจารย์ที่ชาวนครพนมเคารพนับถือ ส่วนรูปปั้นนั้นจะอยู่ในตึกเทพสิทธาราม และที่น่าชมอีกอย่างหนึ่งคือ อาคารที่สร้างขึ้นใน พ. ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมในด้านปูชนียสถานและวัดวาอาราม จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ
การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ ถนนพหลโยธิน ถึงสระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ ๑๐๗ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ ถนนมิตรภาพ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๓ ผ่านจังหวัดมหาสารคาม ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ แล้วแยกขวาเข้าสู่จังหวัดกาฬสินธุ์และผ่านจังหวัดสกลนคร ตรงเข้าสู่จังหวัดนครพนม ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒ รวมระยะทางประมาณ ๗๔๐ กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-นครพนม มีทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต ๒ ทุกวัน สอบถามรายละเอียดที่ โทร. ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖ นครพนม โทร. ๐ ๔๒๕๑ ๑๔๐๓ สำหรับบริษัทเอกชนติดต่อ บริษัท แสงประทีปเดินรถ จำกัด โทร. ๐ ๔๒๕๒ ๐๔๑๑ บริษัท ชัยสิทธิ์ จำกัด โทร. ๐ ๔๒๕๒ ๐๕๖๑ และบริษัทเชิดชัยทัวร์ จำกัด โทร. ๐ ๖๒๒๕ ๖๐๖๓, ๐ ๔๒๕๑ ๒๐๙๘
เครื่องบิน บริษัท พี บี แอร์ จำกัด เปิดบริการเที่ยวบินไปจังหวัดนครพนมทุกวัน สอบ-ถามรายละเอียดโทร. ๐ ๔๒๕๘ ๗๒๐๗ กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๓๕ ๔๘๔๓-๔ หรือสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. ๑๕๖๖, ๐ ๒๒๘๐ ๐๐๖๐, ๐ ๒๖๒๘ ๒๐๐๐www.thaiairways.com
เทศกาลและงานประเพณี
งานนมัสการพระธาตุพนม
กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๐ ค่ำถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี ซึ่งถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งงานหนึ่งของชาวนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง
งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม (เฮือไฟ)
จัดขึ้นในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ริมแม่น้ำโขงบริเวณเขตเทศบาลการไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ ์เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ครั้นเมื่อออกพรรษา แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง ๓ วันนี้เรียกว่า “วันพระเจ้าโปรดโลก” พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั้นเรียกว่า “อจลเจดีย์” (อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็คือการสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้น และได้ทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีตำนานการไหลเรือไฟ ที่แตกต่างกันก็ถือว่าทำให้ได้รับอานิสงฆ์เหมือนกัน เดิมเรือไฟทำด้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ ๕-๖ วา ข้างในบรรจุ ไว้ด้วยขนม ข้าวต้มมัด หรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ปัจจุบันมีการจัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่าง ๆ ที่ขนาดใหญ่โตขึ้น มีวิธีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ ลงกลางลำน้ำโขง ภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วงจะเป็นภาพที่งดงามประทับใจผู้พบเห็นไปตราบนานเท่านาน เนื่องจากไม่มีที่ไหน ๆ ในประเทศไทยจะยิ่งใหญ่เหมือนที่จังหวัดนครพนม
ประเพณีแสกเต้นสาก
เป็นประเพณีของชนเผ่าแสกที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอาจสามารถ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ ๔ กิโลเมตร ประเพณีแสกเต้นสาก เป็นการเต้นบวงสรวงเจ้าที่จะเต้นสากเป็นประจำทุกปี ในเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ การแสกเต้นสากนอกเทศกาลจะต้องทำพิธีขอขมาก่อน ของที่ใช้ ได้แก่ หัวหมู เงิน ๒๐ บาท และเหล้า ซึ่งจะทำพิธีที่ศาลเจ้าประจำหมู่บ้านโดยการเสี่ยงทายไม้สี ถ้าได้สีเดียวกันแสดงว่าเจ้าไม่อนุญาต การเต้น“แสกเต้นสาก” ใช้ไม้สีแดงสลับขาวเรียก“สาก” นำด้วยเสียงกลองจังหวะเร็ว ผู้เต้นจะซอยเท้าถี่ๆลงไปตามจังหวะ การกระทบไม้ คล้ายการเต้นลาวกระทบไม้แต่จะเร็วกว่ามาก
ประเพณีโส้ทั้งบั้ง
เป็นประเพณีของพวกโซ่ (โส้) การเต้นโส้ทั้งบั้งนี้เป็นการรำในงานศพเพื่อที่จะส่งวิญญาณผู้ตายให้ไปสู่สุคติ การเต้นรำมีทั้งชายและหญิง พวกโซ่เป็นชนเผ่าข่าพวกหนึ่ง ลักษณะผิวคล้ำ มีภาษาเป็นของตนเอง ภาษาที่ใช้คล้ายภาษามอญปนเขมร หมู่บ้านชาวโส้นี้ตั้งอยู่ที่บริเวณอำเภอท่าอุเทน อำเภอนาแก และอำเภอศรีสงคราม
No comments:
Post a Comment