คำน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะมีขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เชื่อว่าน้องๆ วัยรุ่นหลายคน อาจไม่รู้จักคำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกันสักเท่าไหร่ บางคนได้ยินคำจากในโทรทัศน์ แต่ไม่ทราบถึงความหมายที่แท้จริง ว่าคืออะไร? งั้นอย่ารอช้า มาติดตามคำและความหมายเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกันเลย
อัลบั้มภาพ 22 ภาพ
คำน่ารู้เกี่ยวกับ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เศวตฉัตร (สะ-เหวต-ตะ-ฉัด)
แปลว่า ฉัตรขาว ใช้เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้น ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๙ นั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญฉัตร ๙ ชั้น ไปปักกั้นเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด] แทนฉัตร ๗ ชั้นที่มีมาแต่เดิม
ใบสมิต
เป็นใบไม้มงคลที่พราหมณ์จัดทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีสำคัญ โดยพราหมณ์นำใบไม้แต่ละชนิดมัดเป็นช่อแล้วหุ้มโคนช่อด้วยผ้าขาว ทำพิธีตามลัทธิของพราหมณ์ แล้วนำไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธี โดยประธานพราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ก่อน แล้วจึงถวายใบสมิต ทรงรับครั้งละช่อ แล้วใช้ปัดพระองค์จากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง ทั้ง ๓ ช่อ ช่อละ ๓ ครั้ง แล้วพระราชทานคืนแก่พราหมณ์นำกลับไปทำพิธีโหมกูณฑ์ [โหมฺ-กูน] คือพิธีบูชาไฟ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสร็จแล้วนำเถ้าไปลอยน้ำเพื่อให้สิ่งไม่ดีทั้งหลายไปกับสายน้ำ
อุทุมพร
มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต อุทุมพร ซึ่งแปลว่าไม้มะเดื่อ ตำนานทางฝ่ายฮินดูกล่าวว่า ไม้มะเดื่อเป็นที่ประทับของเทพตรีมูรติ ซึ่งหมายถึง พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ไทยเราใช้ไม้มะเดื่อทำแท่นที่ประทับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
ศิวาลัยไกลาส หรือ ศิวาลัยไกรลาส
มีความหมายว่า เขาไกลาสอันเป็นที่สถิตแห่งพระศิวะ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ [อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด] ไปประทับยังพระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด] พระราชครูพราหมณ์จะกล่าวเวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกลาส เพื่อเชิญพระศิวะให้เสด็จมาสถิตยังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเนื่องด้วยคติความเชื่อสืบมาในสยามประเทศว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ
กองแก้วจินดา
เป็นหน่วยทหารโบราณ อยู่ในสังกัดทหารปืนใหญ่ มีหน้าที่ยิงปืนใหญ่ขนาดเล็กตามพระฤกษ์ที่โหรหลวงคำนวณ
พระเต้าเบญจคัพภ์ (พระ-เต้า-เบ็น-จะ-คับ)
เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับบรรจุน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนตร์ [เทบ-พะ-มน] ถวายพระมหากษัตริย์สรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และใช้บรรจุน้ำพระพุทธมนต์ถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในแต่ละปี
พระชัยวัฒน์ (พระ-ไช-ยะ-วัด) เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ มีพุทธลักษณะและขนาดต่างกัน แต่ทุกองค์ถือตาลปัตร และส่วนมากบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อมีพระราชพิธีเกี่ยวกับรัชกาลใด ก็อัญเชิญพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลนั้นมาเข้าพิธีด้วย ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญตั้งพระชัยวัฒน์ทุกรัชกาล บนพระแท่นมณฑลในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกร, วาลวิชนี (พัชนี,พระแส้จามรี), ฉลองพระบาทเชิงงอน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี
พระมหาพิชัยมงกุฎ (พระ-มะ-หา-พิ-ไช-มง-กุด)
เดิมเรียกว่า พระมหามงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะเป็นมงกุฎทรงกระโจมปลายเรียวแหลม ทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ประดับด้วยเพชรและอัญมณีต่างสี
พระแสงขรรค์ชัยศรี (พฺระ-แสง-ขัน-ไช-สี)
หนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นพระขรรค์โบราณจมอยู่ในทะเลสาบ ณ เมืองเสียมราฐ (เสียม-ราด) ชาวบ้านไปหาปลาทอดแหได้พระขรรค์นี้มา จึงนำมาให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร [อะ-ไพ-พู-เบด] (แบน) ผู้สำเร็จราชการเมืองเขมรในสมัยนั้น เห็นเป็นสิ่งสำคัญจึงให้กรมการเมือง [กฺรม-มะ-กาน-เมือง]เชิญเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงรับแล้วโปรดให้ทำด้ามและฝัก พระราชทานชื่อว่า “พระแสงขรรค์ชัยศรี”
ธารพระกรชัยพฤกษ์ (ทาน-พระ-กอน-ไช-ยะ-พรึก)
ธารพระกรเป็นราชาศัพท์ของคำว่า ไม้เท้า ธารพระกรชัยพฤกษ์ เป็นหนึ่งใน ๕ ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์กลึงเป็นลำกลม หุ้มทองคำเกลี้ยงทั้งองค์ ส่วนหัวทำเป็นหัวเม็ดหุ้มทองคำ ส่วนส้นเป็นสามง่าม ทำด้วยเหล็ก ธารพระกรองค์นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อต้นแผ่นดิน แต่เดิมเรียกว่า “ธารพระกรง่าม” ชื่อนี้ปรากฏอยู่ในหมายรับสั่งว่าด้วยเครื่องราชูปโภคจะสร้างใหม่ในสมัยนั้น
วาลวิชนี (วา-ละ-วิด-ชะ-นี)
จัดเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ หมายรวมทั้งพัชนีและพระแส้จามรี
พัชนี คือ พัดทำด้วยใบตาลรูปกลมรี ขอบเลี่ยมทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดีนมพัดรูปอย่างพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดีทั้งสองข้างด้ามพัดทำด้วยทองคำเป็นคันกลมยาวจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ส้นทำเป็นหัวเม็ดพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อต้นแผ่นดิน เรียกว่า “พัชนีฝักมะขาม”
พระแส้จามรี คือแส้ทำด้วยขนหางจามรี เป็นพุ่มสีขาวนวลประกอบติดกับด้ามทำด้วยแก้ว ส่วนจงกลรับพู่ขนจามรีและส้นด้ามทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นและให้ใช้คู่กับพัชนีฝักมะขามตั้งแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแผ่นดินนั้นเป็นต้นมา
ฉลองพระบาทเชิงงอน
เป็นหนึ่งใน ๕ ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ (เบ็น-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน) ลักษณะเป็นอย่างรองเท้าแตะ ปลายแหลมงอนขึ้นเล็กน้อย ส่วนหุ้มหลังพระบาททำด้วยทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดี พื้นฉลองพระบาททำด้วยทองคำบุผ้ากำมะหยี่สีแดงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้น
เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ (เครื่อง-ขัด-ติ-ยะ-ราด-ชะ-วะ-รา-พอน)
หมายถึง เครื่องประดับอันเป็นมงคล หัวหน้าพราหมณ์นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระมหากษัตริย์ประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด] มี ๓ รายการ ได้แก่ – พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ เป็นสร้อยที่ทำจากฝ้าย พราหมณ์เป็นผู้จัดทำตามกรรมวิธีของพราหมณ์ ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาซ้าย – พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ (พฺระ-สัง-วาน-นบ-พะ-รัด-ราด-ชะ-วะ-รา-พอน) เป็นสร้อยทองคำ ๒ เส้นคู่กัน มีดอกประจำยาม ๒๗ ดอก ทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ ๙ ชนิดได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์ ดอกละชนิดสลับกัน ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาขวา – พระสังวาลพระนพ เป็นสร้อยอ่อนทำด้วยทองคำ ๓ เส้นเรียงกัน มีดอกประจำยามทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ ๙ ชนิด เชื่อมสร้อยทั้ง ๓ เส้นเข้าด้วยกัน ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาขวา
พระธำมรงค์ (พระ-ทำ-มะ-รง)
คำว่า ธำมรงค์ หมายถึง แหวน มาจากภาษาเขมร ทมฺรง่ [โตม-ร็วง] ซึ่งแปลว่า ทรวดทรงและเครื่องทรงของกษัตริย์ ผู้รู้กล่าวว่า คำนี้ในภาษาเขมรโบราณแปลว่า เครื่องประดับนิ้ว แหวน อาวุธ หนังสือ “ราชูปโภคและพระราชฐาน” กล่าวถึงพระธำมรงค์ ๒ องค์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่ พระธำมรงค์วิเชียรจินดา [วิ-เชียน-จิน-ดา] และ พระธำมรงค์รัตนวราวุธ [รัด-ตะ-นะ-วะ-รา-วุด]
พระแสงอัษฎาวุธ (พระ-แสง-อัด-สะ-ดา-วุด)
พระแสงเป็นราชาศัพท์ หมายถึง อาวุธ ส่วน อัษฎาวุธ หมายถึง อาวุธ ๘ อย่าง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก) มีการถวายพระแสงอัษฎาวุธแด่พระมหากษัตริย์
ที่มาข้อมูลจาก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ?
No comments:
Post a Comment