การใช้ที่จอดรถในคอนโดร่วมกัน
ปัญหาของคนเมืองนอกจากเรื่องการจราจรติดขัดแล้ว การขาดแคลนที่จอดรถก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม เคยพบปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอกันบ้างมั้ยครับ?
จากประสบการณ์ในการเข้าไปบริหารโครงการต่างๆ พบว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายโครงการทั้งเพิ่งสร้างเสร็จหรือเปิดมานานแล้ว มักพบปัญหาร้องเรียนมายังนิติบุคคลเรื่องที่จอดรถที่ไม่เพียงพอ ซึ่งผมขอถือโอกาสนี้อธิบายเกี่ยวกับที่จอดรถในคอนโดมิเนียมว่า โดยธรรมเนียมปฏิบัติของการอยู่ร่วมกันนั้น เราควรใช้ที่จอดรถอย่างไร
ขอนำหลักเกณฑ์ ว่าด้วยพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ได้มีการกำหนดให้เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลที่เป็นของตนและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง โดยทรัพย์ส่วนบุคคล ได้แก่ ตัวห้องชุดแต่ละห้องชุด และสิ่งปลูกสร้างที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย เช่น ที่จอดรถส่วนตัว และที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละรายโดยเฉพาะ เช่น สวนหย่อม ที่ดินสำหรับทำครัว ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
เจ้าของห้องชุดแต่ละห้องชุด จึงมีสิทธิใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้แต่ผู้เดียว เจ้าของห้องชุดอื่นจะมาใช้ร่วมด้วยไม่ได้
นอกจากนี้ เจ้าของห้องชุดยังมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง ได้แก่ ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารชุด ตัวอาคารชุดนอกจากส่วนที่เป็นห้องชุด เช่น ฐานราก เสาเข็ม ดาดฟ้า และที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วมทุกคน เช่น สระว่ายน้ำ สนามกีฬาส่วนรวม ฯลฯ และทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ลิฟต์ บันได เครื่องปั๊มน้ำ หรือถังเก็บน้ำ เสาอากาศทีวีรวม เป็นต้น
สำหรับประเด็นเรื่องที่จอดรถนั้น ตามกฎหมายควบคุมอาคารในส่วนของการจัดที่จอดรถได้กำหนดไว้ว่า ในพื้นที่ใช้สอย 120 ตร.ม. จะต้องมีพื้นที่จอดรถ 1 คัน (สำหรับโครงการในกรุงเทพฯ) แต่พักหลังขนาดของห้องชุดมีขนาดเล็กลงเป็น 30 ตร.ม. แต่กฎหมายที่ใช้ยังคงเดิม ทำให้ที่จอดรถจะหายไป 3 ใน 4 ปัญหาที่จอดรถจึงมักเกิดขึ้นกับโครงการที่มีขนาดห้องเล็ก
ถ้าถามว่าทำไมผู้ประกอบการไม่ทำขนาดที่จอดรถให้พอ คำตอบก็คือ ถ้าทำเช่นนั้น ราคาขายก็จะสูงขึ้นมากไม่แปรผันตามราคาของที่ดินที่สูงขึ้น ในที่สุดก็ขายไม่ได้
ดังนั้น การบริหารจัดการที่จอดรถจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น 1 ห้อง 1 คัน ไม่จอดเกินสิทธิ เก็บเงินค่าที่จอดเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าของร่วมนำรถที่มีอยู่ทั้งหมดมาจอดที่คอนโดมิเนียม และอีกหน่อยเมื่อรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาตรงนี่ได้บ้าง โดยนิติบุคคลต้องทำความเข้าใจกับลูกบ้านให้รับทราบถึงปัญหาและหาวิธีในการอยู่ร่วมกัน
สำหรับบทบาทของนิติบุคคลอาคารชุดนั้น คือ หน่วยงานที่บริหารจัดการดูแลทรัพย์สินส่วนกลางของคอนโดมิเนียม หากเจ้าของร่วมหรือผู้พักอาศัยประสบปัญหาต่างๆ อย่างเรื่องที่จอดรถไม่พอ มีรถบุคคลภายนอกเข้าจอดมากีดขวางรถของผู้พักอาศัย ก็ต้องเป็นหน้าที่ของนิติบุคคลในการหาวิธีแก้ไขปัญหา
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ท่านผู้อยู่อาศัยหรือเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียม นอกจากจะมีกรรมสิทธิ์ในห้องของตัวเองแล้ว ยังต้องช่วยกันรักษาสิทธิของตัวเองไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น หัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในคอนโดมิเนียม คือ การเปิดใจให้กว้าง ต้องทำความเข้าใจว่าทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน มีข้อตกลงในการอยู่อาศัยร่วมกัน ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่สมาชิกตกลงกันไว้ โดยมีนิติบุคคลที่เป็นคนกลางช่วยบริหารจัดการให้เป็นตามกฎเกณฑ์ต่างๆ
ขณะเดียวกันเจ้าของหรือผู้อยู่อาศัยก็ควรให้ความสำคัญกับการเข้าประชุมประจำปี เพื่อสรุปปัญหา หาแนวทางแก้ไขและกฎระเบียบที่ทุกคนต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อให้เราอาศัยร่วมกันในโครงการอย่างมีความสุข ไร้ปัญหากังวล นะครับ
โดย…ภูมิศักดิ์ จุลมณีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด / poomipak.j@plus.co.th http://www.posttoday.com/
No comments:
Post a Comment