เปิดอาณาจักรปลากัด สิรินุช เบตต้าฟาร์ม
เปิดอาณาจักร ‘สิรินุช เบตต้าฟาร์ม’ ที่ส่งออก ‘ปลากัด’ ไปทั่วโลก
นาทีนี้ ‘ปลากัด’ ถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในบ้านเราและตลาดโลก นั่นเป็นเหตุผลที่เราจะพาทุกคนไปตะลุยอาณาจักรปลากัด สิรินุช เบตต้าฟาร์ม ที่ส่งออกปลากัดไปทั่วโลกเพื่อคุยกับคุณก้อย สิรินุช ฉิมพลี ผู้เป็นเจ้าของที่มีประสบการณ์เพาะปลากัดมากว่า 15 ปี กวาดรางวัลมาแล้วมากมายทั้งในและต่างประเทศ บนพื้นที่ฟาร์มในจังหวัดนครปฐมกว่า 4 ไร่พร้อมกับปลากัดกว่าแสนตัว งานนี้รับรองว่าทุกคนต้องทึ่งกับเจ้าปลากัดยอดนักสู้อย่างแน่นอน
จุดเริ่มต้นของสิรินุช เบตต้าฟาร์ม? เริ่มจากเรียนจบในปี 2541 เป็นยุคฟองสบู่แตกเศรษฐกิจตกต่ำคนตกงานเยอะมาก คุณก้อยเป็นหนึ่งในนั้นเลยตัดสินใจกลับมาตั้งหลักที่นครปฐมบ้านเกิด ตอนแรกจะมาทำไร่แต่คิดว่าคงไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมาดูจากรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา ก็คิดอยู่หลายตลบว่าจะทำอะไรดี ในหมู่บ้านเค้าเลี้ยงปลากัดจีนปลากัดหม้อขายแล้วมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อถึงบ้าน เรามีความรู้สึกว่าดีเนอะไม่ต้องไปเร่ขาย จุดประกายทำให้อยากทำเป็นอาชีพ จากนั้นไปเสิร์ชในอินเตอร์เน็ต ดูวารสารกรมประมง คุณสมบัติของปลากัดมันเลี้ยงง่ายตายยาก มีสีสันสวยงามทนทุกสภาพอากาศมันจึงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ เมื่อเราค้นคว้าลึกเข้าไปอีกก็เห็นตัวเลขการส่งออกหลักหลายพันล้านบาทต่อปีเลยคิดว่านี่ล่ะที่เราจะยึดเป็นอาชีพจริงจัง
หนทางโรยด้วยกลีบกุหลาบมั้ยครับ? ช่วงแรกๆ ก็ล้มลุกคลุกคลานแต่พอเพาะได้มากขึ้นก็ขยายฟาร์มไปเรื่อยๆ มีขวดแบนใส่ปลาแค่ 5 พัน บ่อซีเมนต์ 10 บ่อ พอมีเงินเก็บก็ขยายมากขึ้นจนตอนนี้มีบ่ออนุบาลปลาประมาณ 500 บ่อ มี 1 แสนขวดแบนสำหรับเลี้ยงปลากัด พอเรามีปลามากขึ้นก็รู้สึกไม่อยากซื้อขายกับพ่อค้าคนกลางเราอยากทำอะไรให้แตกต่างกว่าเกษตรกรรายอื่น ก็เริ่มมาคิดว่าต้องเดินหาตลาดไม่ใช่ให้ตลาดเดินหาเราเลยเริ่มเดินสายประกวดปลากัดตามต่างจังหวัดบ้าง งานประมงในกรุงเทพฯ บ้างแต่ก็แพ้ทุกงาน
เหตุผลที่แพ้ตลอดในช่วงแรก? ตอนแรกก็สงสัยว่าเราแพ้เพราะอะไร เพราะสายตาเรามองก็เห็นว่าสวยแล้วนะ ก็เลยมาค้นคว้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมารู้ว่าเค้ามีมาตรฐานในการประกวด จะต้องดูหาง กระโดง ตะเกียบ สีเกล็ด ปาก หู ครีบ เรียกว่าทุกส่วนของปลาที่พูดมาทั้งหมด ก่อนหน้านี้เราไม่เคยดูเลย พอรู้มาตรฐานการประกวดแล้วเราก็ฟอร์มปลาขึ้นมาใหม่แล้วกลับไปประกวดอีกครั้งคราวนี้ได้ที่ 1 กลับมาในตำแหน่งแกรนด์แชมป์เปี้ยน จากนั้นเริ่มติดใจประกวดมาเรื่อยๆ จนมาได้แกรนด์แชมป์เปี้ยนอีก 3 ปีที่ออสเตรเลีย รวมรางวัลที่เคยได้มาทั้งหมดจากการประกวดมีประมาณ 60 รางวัล
จุดเด่นของสิรินุช เบตต้าฟาร์ม? พื้นที่ของฟาร์มมีทั้งหมด 4 ไร่แบ่งเป็นโซนอนุบาลลูกปลา โซนพ่อแม่พันธุ์ โรงเรือนเลี้ยงปลา โซนแพ็คปลา เหมือนลูกค้ามาห้างสรรพสินค้ามาที่เดียวได้ปลาครบทุกพันธุ์กลับไป ส่วนสีของปลาเราจะคำนวณตามความต้องการของตลาด อย่างช่วงนี้ปลากัดสีมัสตาด สีแฟนซีและลายปลาคาร์ฟกำลังมาแรง ส่วนที่ได้ความนิยมตลอดกาลคือปลากัดสีแดง น้ำเงิน เขียว ซึ่งเป็นสีคลาสสิค
ปลากัดตัวเด่นของทางฟาร์ม? ถ้าพูดถึง sirinut betta farm ต้องนึกถึงทองประกายแสดปลากัดพันธุ์ฮาร์ฟมูนที่ท่านนายกประยุทธตั้งชื่อให้จากการที่เราไปโชว์ลาหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้ท่านนายกดู
ตลาดต่างประเทศส่งไปที่ไหนบ้างครับ? ทั่วโลกเลยค่ะ ตลาดใหญ่ๆ ก็จะมี อเมริกา อิหร่านและรัสเซีย โซนเอเชียจะมีสิงคโปร์ จีน ทุกวันนี้ส่งออกเดือนละ 30,000-50,000 ตัว
กระแสปลากัดบ้านเราช่วงนี้เป็นยังไงบ้างครับ? สมัยก่อนคนต่างชาติจะไม่รู้ว่าปลากัดมาจากประเทศไทยทั้งๆ ที่บ้านเราส่งออกเยอะที่สุดในโลก แต่หลังจากเปิดตัว iPhone ที่มีปลากัดเป็นพรีเซ็นเตอร์มีออเดอร์สั่งปลากัดจากประเทศไทยเยอะขึ้นนั่นทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ ส่วนในช่วงนี้ความนิยมก็ยังคงอยู่และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนที่เคยเลี้ยงมักจะติดใจด้วยความสวยงามเลี้ยงง่ายไม่จุกจิกและซื้อเลี้ยงเพิ่มขึ้น
สิ่งท้าทายของการทำฟาร์มปลากัดขนาดใหญ่แบบนี้?
ตื่นเต้นเวลาเห็นออเดอร์ แล้วจะดีใจมากถ้าลูกค้าซื้อไปแล้วกลับมาซื้ออีกอีกอย่างคือมีความสุขที่ได้หาปลากัดสีแปลกๆ ให้ลูกค้ากลับไปเลี้ยง เพราะกว่าจะออกมาเป็นสีสวยๆ ได้มันต้องลุ้นเสมอ อย่างเราเอาพ่อพันธุ์สีน้ำเงินกับแม่พันธุ์สีเขียวมาผสมกันออกมาจะเป็นสีอะไรต้องลุ้นเอา
เสน่ห์ของปลากัดในสายตาคุณก้อย? พอเรามาทำฟาร์มเต็มตัวก็เริ่มหลงเสน่ห์มันมากขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนที่เรายังไม่เลี้ยงปลาเวลาเห็นจะรู้สึกเฉยๆ แต่พอมาคลุกคลีรู้สึกว่ามันเป็นอัญมณีที่มีชีวิตจริงๆ ยิ่งตอนหางสะบัดเหมือนกระโปรงพริ้วไปพริ้วมาสวยมาก
ติดตามเรื่องราวน่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน A’Lure Digital Magazine 01
No comments:
Post a Comment